ชื่อโครงการ |
โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม |
ที่อยู่ |
โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา 477/2 ถ.ทหารบก ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม 73000 |
โทรศัพท์ |
034 272 661-2 |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งนางสาวคมคาย นิลประภัสสร ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน 35 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา
พระราชดำริ / พระราชดำรัส
คณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2548 อนุมัติในหลักการ แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการ โครงการอุทยานการอาชีพในที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อให้วิทยาการและบริการวิชาการ โดยเฉพาะด้านการอาชีพในหลากหลายรูปแบบแก่เยาวชน และประชาชนผู้สนใจ พร้อมทั้งให้บริการทางสังคมแก่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวพระราชดำริในการส่งเสริมให้เป็นศูนย์วิชาการ และศูนย์ข้อมูลทางด้านการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
1. เพื่อเป็นแหล่งวิชาการและแหล่งข้อมูลด้านการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกอาชีพภายในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจทั่วไปโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งเป็นต้นแบบของแหล่งการเรียนรู้ในด้านการอาชีพ และการให้บริการทางวิชาการที่หลากหลายครบวงจร
2. เพื่อปลูกฝังและเผยแพร่ปรัชญาตามแนวพระราชดำริให้กับผู้เข้ารับการอบรม และขยายผลไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สามารถใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน
3. เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งธุรกิจท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งบริการทางสังคมแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
แนวทางการดำเนินงาน
กิจกรรมของโครงการแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1. ด้านบริการวิชาการ จัดกิจกรรมด้านวิชาการเพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพ และพัฒนาตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
- การจัดอบรมวิชาชีพต่างๆ ให้เยาวชน ประชาชนในจังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะบุคคลที่ขาดโอกาสทางด้านการศึกษาในระบบ โดยเนื้อหาวิชาชีพจะต้องเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพ และพัฒนาตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ห้องสมุดประชาชนสมัยใหม่ มีระบบจัดเก็บ รวบรวม และรักษาหนังสือ วารสาร จุลสารและเอกสารตีพิมพ์ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถค้นคว้าความรู้ และเรียนรู้วิชาการต่างๆ โดยเน้นข้อมูลด้านการอาชีพ จากห้องสมุดที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล รวมทั้งให้บริการสืบค้นทางสารสนเทศ บริการยืม – คืน หนังสืออัตโนมัติ และบริการ Edutainment
- ห้องปฏิบัติการทางภาษา และคอมพิวเตอร์
- พิพิธชัยพัฒนา นิทรรศการถาวร เรื่องประวัติความเป็นมา การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง
2. ด้านบริการสังคม เป็นการจัดกิจกรรมในโครงการเพื่อให้บริการแก่ชุมชน รวมถึงกิจกรรมเชิงธุรกิจนำรายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิชาการ เพื่อให้โครงการสามารถพึ่งตนเองได้ โดยกิจกรรมต่างๆ จะประกอบด้วย
- ห้องสัมมนาจัดเลี้ยงที่ทันสมัย ขนาดความจุโต๊ะจีนได้ 80 โต๊ะ ทั้งนี้ สามารถกั้นเป็นห้องเล็กได้ 3 ห้อง รวมทั้ง พื้นที่กลางแจ้งสำหรับให้บริการจัดเลี้ยง
- ร้านจำหน่ายสินค้า ประกอบด้วย ร้านภัทรพัฒน์ ณ อุทยาน จำหน่ายสินค้าจากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา สินค้าโครงการหลวง ดอยคำ สินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่น สินค้าจากผลิตผลของผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ และร้านค้าย่อย 7 ร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์/บริการหลากหลายรูปแบบ เช่น ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และร้านดอกไม้
- สถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งประกอบด้วย สระน้ำขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ และลู่วิ่งออกกำลังกาย