พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก

ขิง (Ginger) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ขิง (Ginger)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae 

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี
ต้น มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดินแบบ Rhizome เรียกว่า “เหง้า” เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อภายในสีนวลหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นเฉพาะตัว เกิดลำต้นเทียมลักษณะเป็นหน่อขึ้นมาเหนือพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มซ้อนกันแน่น มีสีเขียว
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปหอก หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบสอบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5 ถึง 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร หน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมันวาว หลังใบมีขนสีขาวนวล ก้านใบสั้น
ดอก ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด พัฒนาขึ้นจากเหง้าใต้ดิน ดอกมีกลีบสีเหลืองแกมเขียว ปลายกลีบขยายกว้างออกมีสีม่วงแดง ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ส่วนโคนของกลีบดอกม้วนห่อส่วน
ผล ผลลักษณะผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก

ข้อมูลอื่นๆ

สรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้ามีรสหวานเผ็ดร้อน ช่วยขับลม รักษาอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ แก้บิด น้ำมันหอมระเหยจากเหง้า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เพื่อช่วยการย่อยอาหาร



วิธีการใช้ประโยชน์ นำเหง้าขิงที่ไม่แก่จัดมากนัก (ขิงแก่จัดมีสารบางชนิดที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและรสเผ็ด) ปอกเปลือกนอกของเหง้าออก นำไปล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลก ต้มในน้ำเดือด (ไม่ควรต้มให้เดือดนานเกินไป เพราะทำให้น้ำขิงมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยลดลง) จากนั้นกรองแยกส่วนของกากออก อาจเติมน้ำตาลเล็กน้อยตามความต้องการ เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น หรือใช้เหง้าแก่ตากแห้งทุบหรือบดเป็นผง ชงในน้ำร้อนดื่ม



การปลูกและดูแลรักษา การเตรีมพื้นที่ปลูก ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกขิงเป็นดินร่วนร่วนปนทราย โดยปลูกในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากการเตรียมดินปลูกโดยไถพรวนดิน 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย ตากแดดทิ้งไว้ 1 ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชและโรคพืชที่สะสมอยู่ในดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินที่ใช้ปลูก อาจใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ให้มีค่าประมาณ 5.5 ถึง 6.5 เตรียมแปลงปลูกให้มีขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 15 ถึง 20 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ การเตรียมหัวพันธุ์ เลือกเหง้าขิงที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ตัดส่วนเหง้าให้มีตา 2-3 ตาต่อเหง้า ทาแผลรอยตัดด้วยปูนแดง ผึ่งลมให้แห้งก่อนนำไปปลูก การปลูก ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดลึกประมาณ 10 เซนติเมตร รองหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถึง 2 กำมือ นำเหง้าพันธุ์ขิงที่เตรียมไว้วางลงในหลุมปลูกแล้วกลบด้วยดินให้มิด โดยมีระยะห่างการปลูกระหว่างต้น 20 ถึง 25 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร และรดน้ำในทันทีหลังปลูก การดูแลรักษา หลังจากปลูกเป็นเวลา 1 เดือน ขิงเกิดหน่อขึ้นมามีความสูงประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ควรกำจัดวัชพืช และให้ปุ๋ยคอก 200 กรัมต่อต้น เมื่อขิงมีอายุได้ 2 เดือน เหง้าขิงรุ่นแรกโผล่ขึ้นมาเหนือดิน ในระยะนี้ต้องมีการตัดแต่งกอให้เหลือไว้เพียง 4 ถึง 5 หน่อต่อกอ พูนโคนต้นโดยใช้จอบโกยดินกลบโคนต้น และเมื่อขิงมีอายุได้ 3 เดือน ทำการตัดแต่ง พูนโคน และกำจัดวัชพืชอีกครั้ง ในระหว่างการปลูก ไม่ควรให้น้ำท่วมขัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคเหง้าเน่าจากเชื้อแบคทีเรียได้ หากมีน้ำเพียงพอควรให้น้ำ 2 ถึง 3 วันต่อครั้ง หรือให้น้ำเมื่อพบว่าดินในแปลงปลูกเริ่มแห้ง การเก็บเกี่ยว หากต้อการใช้ประโยชน์จากขิงอ่อน เก็บเกี่ยวเหง้าได้เมื่อขิงมีอายุอยู่ในช่วง 4-6 เดือนหลังปลูก โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ให้แต่ละครั้งเก็บเกี่ยวห่างกันประมาณ 12 ถึง 15 วัน หากต้อการใช้ประโยชน์จากขิงแก่ สามารถเก็บผลผลิตได้เมื่อขิงอายุปลูก 8-12 เดือน