
ชื่อโครงการ |
โคงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชสมุนไพร |
ที่อยู่ |
เลขที่ 63 หมู่ 4 ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290 |
โทรศัพท์ |
053 873000 |
กิจกรรม “ตู้ยาสมุนไพร ปลูกได้ ง่ายนิเดียว”
ความสำคัญและที่มาของกิจกรรม ตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการวิจัยการแพทย์และสมุนไพร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรทดแทนหรือการใช้สมุนไพรในยาสำเร็จรูป ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณมากขึ้น โดยมีการใช้ในรูปแบบของพืชสมุนไพรสด หรือสมุนไพรแห้ง ทั้งในรูปเครื่องยาหรือผงยา และนำมาใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภค นอกจากนั้นยังมีการใช้สมุนไพรในรูปแบบอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยพบว่าแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยมีมากขึ้น มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการใช้สมุนไพรสูงถึงปีละ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพร และใช้ในการอ้างอิงสำหรับการขึ้นทะเบียน ตำรับยาสมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยของพืชสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยที่ศึกษาและสร้างองค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมสมุนไพรอยู่ไม่น้อย โดยมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านวารสารระดับนานาชาติและระดับชาติ แต่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่กระจัดกระจายในหลายแหล่งและหลายรูปแบบ ซึ่งมิได้มีการนำมาบูรณาการกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการสมุนไพรไทย
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมีพรรณไม้นานาชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีในทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชสูง โดยพืชหลายชนิดมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมาก หนึ่งในชนิดนั้นก็คือ พืชสมุนไพร ซึ่งอยู่คู่มากับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และมนุษย์ได้รู้จักใช้ประโยชน์ของพืชสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ ด้วยความรู้และประสบการณ์รักษาโรคได้มีการสืบทอดและพัฒนาถึงขั้นจัดทำขึ้นเป็นตำรายาสมุนไพร ปัจจุบันความนิยมสมุนไพรและการดูแลสุขภาพแนวธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการผลิตและใช้ยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลายแห่ง มีการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรเพื่อลดการเสียดุลจากการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และพยายามส่งออกสินค้าสมุนไพรเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งประเทศไทยนั้นมีถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตยาสมุนไพรเป็นการค้า สำหรับใช้ในประเทศเพื่อลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งรวมของพืชสมุนไพรที่มีความหลากหลาย โดยความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของสมุนไพร ทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและนำมาปลูกเพื่อการค้า ความต้องการใช้วัตถุดิบสมุนไพรมีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ทั้งการนำมาปรุงแต่งอาหาร อุตสาหกรรมยา และอื่นๆ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยควรเร่งขยายการผลิตสมุนไพรให้พืชเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมีการส่งเสริมการปลูกให้เพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ต้นพันธุ์ที่จะนำมาปลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งเมื่อมีการนำต้นพันธุ์ออกจากป่ามากขึ้นทำให้ต้นที่มีเหลืออยู่ในป่ามีปริมาณที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของพืชสมุนไพร ซึ่งอาจเกิดการสูญพันธุ์ได้ ดังนั้นในการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็วนั้นสามารถนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
โคงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชสมุนไพร จึงจัดกิจกรรม “ตู้ยาสมุนไพรประจำบ้าน ปลูกได้ ง่ายนิเดียว” โดยได้แนะนำพืชสมุนไพรประเภทหัว ซึ่งอยู่ในกลุ่มสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชาย ขิง ข่า และไพล ที่สามารถปลูกและใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เพื่อเผยแพร่หัวพันธุ์ แนะนำการปลูกดูแลรักษา และวิธีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร ให้ประชาชนสามารถนำสมุนไพรที่มีปลูกอยู่ในรอบรั้วเขตบ้าน มาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่พึงมีในการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และพึ่งพาตนในการดำรงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ได้มีการประชุมคัดเลือกเมื่อปี พ.ศ. 2537 ได้พิจารณาคัดเลือกสมุนไพร เพื่อประกาศใช้สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน จำนวน 62 รายการ โดยจัดเป็นพืชสมุนไพร 61 และรายการที่ 62 คือน้ำแข็ง ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคผิวหนัง: แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2542) ของสำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข และต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมรายการสมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน สำหรับแนะนำให้ประชาชนใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรคเบื้องต้นเรื่อยมา ซึ่งในปัจจุบันมีพืชสมุนไพรจำนวน 66 ชนิด ได้แก่กะเพรา กระเทียม กระวาน กระเจี๊ยบแดง กระทือ กระชาย กล้วยน้ำว้า กานพลู ข่า ข้าว(กล้อง) ขิง ขลู่ ขมิ้นชัน ขี้เหล็ก คำฝอย คูน ชุมเห็ดเทศ ชุมเห็ดไทย ดีปลี ตำลึง ตะไคร้ เทียนบ้าน ทองพันชั่ง ทับทิม น้อยหน่า บอระเพ็ด บัวบก ปลาไหลเผือก ฝรั่ง ผักบุ้งทะเล เพกา พญายอ พลู ไพล ฟักทอง ฟ้าทะลายโจร มะเกลือ มะขาม มะขามแขก มะคำดีควาย มะนาว มะพร้าว มะแว้งเครือ มะแว้งต้น มะละกอ มะหาด มังคุด ถั่วพู ถั่วเหลือง ยอ ย่านาง เร่ว เล็บมือนาง ว่านหางจระเข้ สะแก สับปะรด ลิ้นงูเห่า สีเสียด หญ้าคา หญ้าหนวดแมว แห้วหมู อ้อยแดง คำแสด เตยหอม ฝาง และอัญชัน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มโรค/อาการเบื้องต้น 18 โรค/อาการ ดังนี้
1) อาการท้องผูก
2) อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
3) อาการท้องเสีย (ไม่รุนแรง)
4) พยาธิลำไส้
5) บิด
6) อาการคลื่นไส้ อาเจียน (สาเหตุจากธาตุไม่ปกติ)
7) อาการไอ ขับเสมหะ
8) อาการไข้
9) อาการขัดเบา (ปัสสาวะไม่สะดวก กะปริบกะปรอย แต่ไม่มีอาการบวม)
10) โรคกลาก
11) โรคเกลื้อน
12) อาการนอนไม่หลับ
13) ฝี แผลพุพอง (ภายนอก)
14) อาการเคล็ดขัดยอก (ภายนอก)
15) อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (ภายนอก)
16) แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ภายนอก)
17) เหา
18) ชันนะตุ
กระทรวงสาธารณสุขได้มีการทบทวนรายชื่อสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยตัดรายการสมุนไพรที่ไม่มีรายงานยืนยันเกี่ยวกับสรรพคุณทางเภสัชวิทยาและการศึกษาทางคลินิก ตลอดจนสมุนไพรที่มีรายงานว่ามีผลข้างเคียงออก เช่น ปลาไหลเผือก สะแก และเพิ่มรายการสมุนไพรที่มีประโยชน์รักษาโรค เซ่น แก้ว ผักคราดหัวแหวน และข่อย เพื่อใช้แก้ปวดฟัน แมงลัก แก้ท้องผูก มะระขี้นก และสะเดาบ้าน ใช้แก้อาการเบื่ออาหาร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงให้ใด้สมุนไพรที่เหมาะสมสำหรับแนะนำให้ประชาชนใช้บำบัดรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจัดรายการสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐานออกเป็นกลุ่มตามประโยซน์ที่นำมาใช้ เพื่อการรักษาอาการของโรคต่างๆ