พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก

ข่า (Galangal) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L.) Willd.

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ข่า (Galangal)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L.) Willd. จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae 

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี
ต้น มีลำต้นที่แท้จริงอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” (Rhizome) เหง้าเจริญแตกแขนงเป็นแง่งขนานไปกับพื้นดิน มีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลำต้นเทียมเจริญขึ้นมาเหนือดิน เป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มซ้อนทับกันแน่น มีสีเขียวทรงกระบอกกลม ความสูงประมาณ 1.5 ถึง 2.0 เมตร
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เกิดเวียนรอบต้น ใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเรียวเข้าหาก้านใบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบสั้น ขนาดใบกว้างประมาณ 7 ถึง 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 ถึง 40 เซนติเมตร
ดอก ดอกเกิดเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ส่วนยอดลำต้นเทียม เมื่อเริ่มเกิดช่อดอกมีใบประดับรูปไข่ลักษณะเป็นกาบสีเขียวอมเหลืองหุ้ม ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 3 กลีบ
ผล ผลรูปทรงกระบอกหรือกลมรี ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่มีสีแดงอมส้ม ผลแตกเมื่อแห้ง และภายในมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำ มีรสขมและเผ็ด

ข้อมูลอื่นๆ

สรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้าข่ารสเผ็ดร้อน ขม รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่น ขับลมในลำไส้ รักษาอาการปวดมวนในท้อง รักษากลาก เกลื้อน อาการคันจากลมพิษ และรักษาอาการปวดบวมตามข้อ



วิธีการใช้ประโยชน์ นำเหง้าข่ามาล้างทำความสะอาด หันเป็นชิ้น ทุบพอแตก ต้มและกรองแต่น้ำดื่ม หรือนำส่วนของเหง้ามาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ส่วนการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน นำเหง้าข่าสดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว ใช้ทาบริเวณที่มีอาการ



การปลูกและดูแลรักษา ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข่าเป็นดินร่วนร่วนปนทราย โดยปลูกในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากการเตรียมดินปลูกโดยไถพรวนดิน 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย ตากแดดทิ้งไว้ 1 ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชและโรคพืชที่สะสมอยู่ในดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินที่ใช้ปลูก อาจใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ให้มีค่าประมาณ 5.5 ถึง 6.5 การเตรียมหัวพันธุ์ เลือกเหง้าแก่ที่มีอายุปลูกมากกว่า 1 ปี ตัดลำต้นเทียมออกให้เหลือเพียง 1 ถึง 2 ลำต้น สูงประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร โดยให้มีแง่งประมาณ 1 ถึง 2 แง่ง ตัดรากที่ยาวทิ้ง นำลงเพาะชำในขี้เถ้าแกลบ รดน้ำพอชุ่ม ซึ่งใช้เวลาในการเกิดรากใหม่ประมาณ 10 ถึง 20 วัน การปลูก ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหลุมละ 100 ถึง 200 กรัม วางหัวพันธุ์ในหลุมปลูก กลบดินให้ส่วนลำต้นเทียมโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย โดยให้มีระยะห่างการปลูกระหว่างต้น 70 ถึง 80 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 70 ถึง 80 เซนติเมตร และรดน้ำในทันทีหลังปลูก และในระหว่างการปลูกควรมีการให้น้ำกระชายอย่างสม่ำเสมอ การเก็บเกี่ยว การขุดเหง้าข่าเริ่มขุดได้เมื่อเหง้ามีอายุหลังปลูกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งใช้ประโยชน์เป็นข่าอ่อน หากต้องการใช้ประโยชน์จากข่าแก่ ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อเหง้ามีอายุหลังปลูกเป็นเวลา 8 เดือน การขุดเหง้าข่ามาใช้ประโยชน์ ไม่ควรขุดขึ้นมาหมดทั้งกอ ให้เหลือไว้ 3 ถึง 4 แง่ง เพื่อเป็นต้นพันธุ์ ซึ่งทำให้การปลูกข่าเพียงครั้งเดียวก็สามารถให้ผลผลิตได้เป็นสิบปี  และหลังจากที่ขุดเอาแง่งมาขึ้นมาแล้ว ควรมีการบำรุงดินทุกครั้ง โดยการใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 500 กรัมต่อกอ