พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

ยางนา (Yang. Gurjan or Garjan.)

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมลำธาร ในป่าดิบทั่วไป ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ดินลึกและมีความชุ่มชื้นเพียงพอ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 200 – 600 เมตร

ไม้ยางนาจะพบอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยปกติจะพบไม้ยางนาในป่าดิบแล้ว ในที่ราบลุ่มใกล้ ๆ ลำน้ำ หรือในพื้นที่น้ำท่วมถึง หรือเกิดจากดินตะกอนหลังน้ำท่วม เข้าใจกันว่าน้ำจะพัดพาไม้ยางนาให้กระจายไปจากแหล่งเดิม เจริญเติบโตขึ้นในบริเวณดังกล่าวได้ดี ในประเทศไทยไม้ยางนาขึ้นอยู่ทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบทั่วไปในจังหวัดเลย ขอนแก่น และนครราชสีมา ภาคกลาง พบทั่วไปในจังหวัดสระบุรี นครนายก และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกสามารถขึ้นอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และตราด ภาคใต้ พบที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง

ปัจจุบันปริมาณไม้ยางนาในประเทศลดลงมาก เนื่องจากมีการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใกล้ ๆ แหล่งน้ำที่มีไม้ยางนาขึ้นอยู่จะเป็นที่ต้องการเพื่อการเพาะปลูกมาก การเจาะโคนต้นไม้ยางนาเพื่อเอาน้ำมันยางโดยใช้ไฟสุมเผาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำลายแหล่งพันธุกรรมไม้ยางนา ไฟที่สุมเผาจะทำลายต้นไม้ให้เป็นโพรงและล้มลงได้ง่ายเมื่อมีลมพายุ นอกนากจี้ไฟที่สุมเผาอาจตกลงสู่พื้นลุกลามออกมาเผาผลาญกล้าไม้ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณนั้นได้ มีการตัดฟันไม้ยางนาลงมาใช้ประโยชน์กันมาก เนื่องจากคุณลักษณะและคุณสมบัติของไม้ยางสามารถแปรรูปใช้ประโยชน์ได้มากและง่าย นอกจากนี้การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ยางนาเอง คือ เมล็ดยางนามักจะถูกแมลงเจาะทำลายขณะที่ยังติดอยู่บนต้น เมื่อร่วงหล่นลงมาในช่วงฤดูร้อน ความชื้นในเมล็ดจะลดลงอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความมีชีวิตเพียงในระยะสั้น ๆ ถ้าไม่ได้รับความชื้นเลย ก็จะไม่มีกล้าไม้งอกตามธรรมชาติได้ และการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่บ่อยครั้ง ก็ทำลายกล้าไม้ให้ตายไปอีกเช่นกัน

ไม้ยางนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ใบแก่จะร่วงลงมา ขณะเดียวกันจะแตกใบใหม่มาทดแทนทันที เนื่องจากมักขึ้นอยู่ในที่ลุ่ม ความชื้นสูง จึงสามารถผลิตใบใหม่แทนได้ เมื่อโตเต็มที่ไม้ยางนาจะมีความสูง ประมาณ 30 – 40 เมตร ความสูงถึงกิ่งแรก ประมาณ 20 – 25 เมตร หรืออาจมากกว่าถ้าอายุมาก ๆ

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus alatus Roxb. ชื่อวงศ์ Dipterocapaceae
ต้น ลำต้น เปลาตรง เปลือกเรียบหนา สีเทาอมขาว โคนต้นมักเป็นพูพอน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูงมาก ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนา เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง
ใบ ใบ เป็นรูปไข่ ปลายแหลมคล้ายใบหอก ขนาดกว้าง 8 – 15 ซม. ยาว 20 – 30 ซม. เนื้อใบหนา ปลายใบสอบเรียว โคนใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 14 – 17 คู่ ก้านใบยาว 4 ซม. กาบหุ้มยอดหรือใบอ่อน มีขนอ่อนสีน้ำตาล ผิวใบมีขนอ่อนและเส้นใบเห็นชัด
ดอก ดอก เมื่อถึงระยะออกดอกผลได้แล้ว การแตกใบอ่อนของยางนาจะเกิดเพียงครั้งเดียว พร้อมทั้งมีตาดอกเกิดขึ้นที่ข้างกิ่งที่แตกออกมาใหม่ เมื่อใบอ่อนเริ่มคลี่ออก ช่อดอกก็จะเริ่มขยายตัวไปพร้อม ๆ กัน และจะมีการเจริญของดอกจากโคนไปยังปลายของช่อดอก ดอกมีสีชมพู ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบรองดอกตอนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย และมีกลีบตามยาว 5 กลีบ โคนกลีบประสานติดกัน ปลายกลีบบิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรตัวผู้มี 29 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ไข่อ่อนช่องละ 2 อัน
ผล ผล หลังจากผสมเกสรแล้วจะพัฒนาเป็นผล ช่อหนึ่ง ๆ จะมี 1 – 2 ผล หรือบางครั้งอาจมากกว่า และใช้เวลาประมาณ 100 วัน ผลจะแก่พอที่จะเก็บมาขยายพันธุ์ได้ ผลยางนาจะมีปีก 2 ปีก ยื่นออกมาจากปลายผลห่อหุ้มส่วนล่างของผลหรือบริเวณที่จะงอกเป็นรากไว้ ภายในมีเมล็ดเดียวเป็นลักษณะคล้าย ๆ แป้งสีขาวมีริ้วสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป ภายในสุดจะเป็นใบเลี้ยงและคัพภะที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลหรือเมล็ดที่สมบูรณ์จะต้องมีเปลือกหุ้มที่พองนูนสม่ำเสมอ และถ้าผ่าดูภายในเมล็ดต้องสดนิ่มจับดูรู้สึกเหนียวนุ่ม เพราะมียาง ถ้าเป็นผลที่แห้งและเมล็ดล่อนไปติดเปลือกหุ้มเมล็ดก็จะเป็นเมล็ดเสียใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้ ไม้ยางนาจะให้ผลจำนวนมาก ผลจะแก่จัดในต้นเดือนพฤษภาคม แล้วจะร่วงลงสู่พื้นดิน ผลยางนาที่ร่วงหล่นถึงพื้นดินจะเป็นเมล็ดดีเพียงประมาณ 30%

ข้อมูลอื่นๆ

การขยายพันธุ์เพื่อปลูกสร้างสวนป่านิยมใช้ผลเพื่อการขยายพันธุ์ เนื่องจากสามารถเตรียมกล้าได้จำนวนมาก ๆ และสะดวกในการดูแลรักษา โดยเก็บเมล็ดยางนา ซึ่งผลจะแก่จัดในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศแต่ละท้องที่ ไม้ยางนาในประเทศไทยพบว่า ในภาคใต้จะแก่ก่อนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือจะแก่หลังสุด การแก่ของผลยางนาสังเกตได้จากสีของปีกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล การเก็บเมล็ดควรเก็บจากต้นลงมาใช้จะดีที่สุด เมล็ดที่ร่วงหล่นลงมาแล้ว อาจเป็นเมล็ดเสียที่ร่วงเพราะแมลงเจาะ หรือลมพายุพัดให้ร่วงลงมาโดยยังไม่แก่จัดก็ได้ ผลที่แก่จัดพร้อมที่จะเก็บได้แล้ว ดูได้จากสีของผลหรือปีกที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ก็ทำการเก็บเมล็ดได้แล้วไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นสีน้ำตาลเข้ม เพราะเมล็ดจะสูญเสียความชื้นภายในเวลาอันรวดเร็วจนไม่อาจใช้เพาะเป็นต้นกล้าไม้ได้ เนื่องจากความมีชีวิตของเมล็ดเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมากกับความชื้นภายในเมล็ด และพบว่า ถ้าความชื้นภายในเมล็ดน้อยกว่า 30% เมล็ดในวงศ์ยางจะตาย หรือมีเปอร์เซ็นต์การงอกน้อยมาก ดังนั้นเมล็ดเมื่อเก็บมาจากบนต้นแล้วให้รีบทำการเพาะทันที



กรณีที่แม่ไม้มีขนาดสูงใหญ่เกินกว่าที่จะปีนขึ้นไปเก็บได้ ต้องเก็บจากเมล็ดที่ร่วงลงมา จะต้องคัดเลือกดูเฉพาะเมล็ดที่ยังสดและสมบูรณ์อยู่เท่านั้น จากการวิจัยพบว่า เมล็ดที่ร่วงหล่นลงมาเองจะมีเมล็ดดีเพียง 57 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  นอกนั้นจะถูกแมลงทำลาย 34 เปอร์เซ็นต์ และเน่าเสีย 9 เปอร์เซ็นต์



การเพาะเมล็ดยางนา  ต้องรีบเพาะชำทันทีหลังจากเก็บเมล็ดมาแล้ว  ก่อนเพาะตัดปีกเมล็ดออกก่อน โดยหยอดเมล็ดลงถุงเพาะชำ หรือเพาะในกะบะเพาะชำ ใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะชำ วางเมล็ดให้ส่วนที่อยู่ระหว่างปีกหงายขึ้น กดเมล็ดให้จมลงในวัสดุเพาะชำให้ส่วนที่จะพัฒนาเป็นรากโผล่ขึ้นมาระดับผิววัสดุเพาะชำ แล้วรดน้ำให้ชุ่มก็จะสามารถงอกได้ภายใน 5 – 6 วัน



ในการเตรียมกล้าไม้จำนวนมาก ๆ  ให้ทำการเพาะเมล็ดในกะบะหรือหลุมเดิม โดยนำเมล็ดมากองสุมกันเด็ดปีกออกก่อน แล้วใช้กระสอบป่าน ฟาง หรือขุยมะพร้าว คลุมทับเมล็ดไว้ แล้วรดน้ำให้ชื้นเช้าเย็นทุกวัน ประมาณ 5 – 7 วัน เมล็ดก็จะงอก แล้วย้ายชำลงถุงต่อไป เมล็ดจะทยอยงอกไปประมาณ 1 เดือน ก็จะหยุดการงอก



วัสดุเพาะชำสำหรับบรรจุถุงสำหรับย้ายชำออาจจะใช้ดินบริเวณที่มีกลุ่มต้นยางขึ้นอยู่ผสมกับหน้าดินทั่ว ๆ ไปก็ได้ แต่จากการทดลองของศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ป่าอาเซียน – แคนาดา  พบว่าวัสดุเพาะชำกล้าไม้ยางนาที่ดีควรเป็นขุยมะพร้าวผสมกับหน้าดินจากกลุ่มไม้ยางนาขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีเชื้อไมคอร์ไรซาปะปนอยู่ด้วย ในอัตรา 1:1  และใช้ปุ๋ยออสโมคอท กล้าละ 0.5 กรัม สำหรับเร่งการเจริญเติบโต ได้กล้าไม้ยางนาอายุ 4 เดือน สูง 25 – 30 ซม. พร้อมที่จะปลูกลงในแปลงได้



เชื้อไมคออร์ไรซาที่พบในระบบรากของไม้ยางนาเป็นชนิด เคโตไมคอร์ไรซา กล้าไม้ยางนาที่ได้รับการปลูกเชื้อเอคโตไมคออร์ไรซาจะมีการเจริญเติบโตดีกว่ากล้าไม้ที่ไม่ได้รับการปลูกเชื้ออและเมื่อนำไปปลูกในพื้นที่สวนป่าก็จะมีอัตราการรอดตายสูง เพราะเชื้อราที่เจริญอยู่ที่รากช่วยเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับน้ำและธาตุอาหารต่าง ๆ ป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นที่รากและเพิ่มความทนทานต่อความแห้งแล้งให้แก่ต้นไม้



การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์



การปลูกไม้ยางนาต้องพิจารณาปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ประกอบด้วย ได้แก่

ดิน  ยางนาจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี จะพบไม้ยางนาขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ดินเกิดจากการทับถม (alluvial soils) มีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ (pH 6 – 7) ไม้ยางนาจะไม่เจริญเติบโตในบริเวณที่เป็นดินเหนียวจัด น้ำท่วมขัง หรือบริเวณที่เป็นดินลูกรัง ดินตื้น หรือเป็นทรายจัด



ปริมาณน้ำฝน  ยางนาเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ต้องการความชื้นค่อนข้างสูงบริเวณที่จะปลูกไม้ยางนาต้องมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,500 มม./ปี



ความสูงจากระดับน้ำทะเล  ควรปลูกไม้ยางนาในบริเวณที่สูงไม่เกิน 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณที่เป็นไหล่เขาจะพบไม้ยางแดง (Dipteerocarpus turbinatus) ขึ้นอยู่เท่านั้น



อุณหภูมิ  ไม้ยางนาสามารถขึ้นอยู่ได้ในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 45 องศาเซลเซียส แต่ไม่ทนทานต่ออุณหภูมิต่ำ ๆ จนเกิดน้ำค้างแข็งได้



แสง  ไม้ยางนาต้องการร่มเงาในระยะ 1 – 2 ปีแรก เมื่อโตเต็มที่ก็ต้องการแสงมากการเตรียมพื้นที่ปลูกไม้ยางนาจึงควรปลูกไม้ร่มเงาไว้ก่อนในระยะแรก เมื่อโตพอเป็นร่มเงาให้แก่ไม้ยางนาแล้วจึงปลูกไม้ยางนาตามลงไป และค่อย ๆ ตัดไม้ร่มเงาออกเมื่อไม้ยางนาโตพอที่จะตั้งตัวได้แล้ว พืชที่นิยมปลูกเป็นร่มเงาให้แก่ไม้ยางนาคือ กล้วย นอกจากจะใช้เป็นร่มเงาแล้ว กล้วยยังให้ความชื้นแก่ยางนาอีกด้วย  นอกจากนี้กล้วยยังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ และสามารถปลูกควบไปกับไม้ยางนาได้เป็นเวลายาวนานเป็น 10 ปี โดยใช้ระยะปลูกที่เหมาะส



ระยะปลูกที่นิยมใช้ในการปลูกไม้ยางนา คือ 4 x 4 เมตร ในตอนแรก แล้วตัดสางขยายระยะออกเมื่อต้นยางนาโตมีการเบียดเสียดแข่งขันทั้งทางระบบรากและเรือนยอด โดยตัดสางขยายระยะออกตามความจำเป็น



ไม้ยางนาเป็นไม้หวงห้าม เมื่อปลูกแล้วสามารถนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าเอกชนได้ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535



ไม้ยางนาจะเจริญเติบโตแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และสภาวะแวดล้อม เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางภาคใต้และตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้ไม้ยางนาเจริญเติบโตได้ดีกว่าทุกภาค ได้มีผู้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตของไม้ยางนาในสภาพป่าธรรมชาติและสวนป่าพบว่า ไม้ยางนาในป่าธรรมชาติดงฟ้าห่วน จังหวัดอุบลราชธานี มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงเฉลี่ยปีละ 1.15 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอก เฉลี่ยปีละ 3 ซม. และการเจริญเติบโตของไม้ยางนา อายุ 21 ปี ในสวนป่าไม้ยางนาสวนรุกขชาติมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ระยะปลูก 2 x 2 เมตร พบว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอก (1.30 เมตร จากระดับพื้นดิน) เฉลี่ย 16.85 ซม.  ความสูงเฉลี่ย 10.53 เมตร มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงเฉลี่ยปีละ 0.50 เมตร และทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยปีละ 0.80 ซม. บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ได้ทดลองปลูกไม้ยางนาที่สวนป่าห้วยระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี บริเวณที่ปลูกเป็นไหล่เขา อายุ 13 ปี ระยะปลูก 2 x 2 เมตร มีความโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับอก เฉลี่ย 11.14 ซม. ความสูงเฉลี่ย 9.46 เมตร ปัจจุบันบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ได้ทดลองปลูกไม้ยางนาไว้ในสวนเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้เลี่ยน พบว่าได้ผลดี การปลูกไม้มีค่าต่างชั้นอายุในรูปแบบนี้จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนมากขึ้น