พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

ข้าวพิษณุโลก80 (Phitsanulok 80)

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

        ข้าวพิษณุโลก80 (Phitsanulok 80) ได้จากการผสมสามทาง ระหว่างพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 90 และ IR56 กับ กข27 เมื่อ พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2535 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1 พ.ศ. 2536 ปลูกคัดเลือกพันธุ์ผสมชั่วที่ 2 แบบรวม(bulk) และชั่วที่ 3 – 5 แบบสืบตระกูล (pedigree) ใน พ.ศ. 2537 – 2540 จนได้สายพันธุ์ PSL92147-1-2-4 ปลูกศึกษาพันธุ์ใน พ.ศ. 2541 และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ใน พ.ศ. 2542 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก นำเข้าปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ระหว่าง พ.ศ. 2543 - 2548 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชัยนาท และลพบุรี ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ ระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2546 ที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และสิงห์บุรี ทดสอบการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจน ระหว่าง พ.ศ. 2545 - 2546 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชัยนาท และลพบุรี ทดสอบเสถียรภาพในการให้ผลผลิตร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี คลองหลวง ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และราชบุรี ใน พ.ศ. 2545, 2547 และ 2548 คณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ชื่อ พิษณุโลก80 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท พืชล้มลุก วงศ์หญ้า เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
ต้น ทรงกอตั้ง ต้นแข็งไม้ล้มง่าย ความสูงเฉลี่ย 141 เซนติเมตร
ใบ ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง
ดอก ดอก / ช่อ จะมีลักษณะคอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง
เมล็ด ข้าวเปลือกเมล็ดสีฟาง ขนสั้นขนาดเฉลี่ยยาว 10.10 มิลลิเมตร กว้าง 2.53 มิลลิเมตร หนา 1.98 มิลลิเมตร ข้าวกล้องรูปร่างเรียว เฉลี่ยยาว 7.45 มิลลิเมตร กว้าง 2.16 มิลลิเมตร หน้า 1.74 มิลลิเมตร เป็นท้องไข่น้อย น้ำหนักข้าวเปลือก 10.6 กิโลกรัมต่อถัง ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 29.2 กรัม เฉลี่ย 637 กิโลกรัม/ไร่

ข้อมูลอื่นๆ

ข้อควรระวัง : ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้ในจังหวัดพิษณุโลก และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบ