พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก ภาคกลาง

มะเขือเปราะเจ้าพระยา ชื่อสามัญ : Thai Eggplant, Yellow berried nightshade ส่วนอินเดียเรียก Kantakari

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ชื่อ : มะเขือเปราะเจ้าพระยา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum melongena L.

ชื่อวงศ์ : Solanaceae

ชื่อสามัญ : Thai Eggplant, Yellow berried nightshade ส่วนอินเดียเรียก Kantakari

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุข้ามปี มีลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-100 เซนติเมตร
ต้น ลำต้น แตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับต่ำ แตกกิ่งแขนงย่อยสั้น เกิดที่ซอกใบ เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียวเขียวอมเทา เปลือกที่ปลายกิ่งมีสีเขียวอ่อน ส่วนแกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาว เปราะหักง่าย
ใบ ใบ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ขนาดใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุมทั้งด้านล่าง และด้านบน แผ่นใบอ่อนนุ่ม ฉีกขาดได้ง่าย ขอบใบเว้า โค้งเป็นลูกคลื่น และงุ้มเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ มีเส้นแขนงใบเรียงสลับกันออกด้านข้าง
ดอก ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นช่อ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ดอกจะแทงออกบริเวณซอกใบตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง ดอกที่ออกเป็นช่อมีก้านช่อดอกสั้น แต่มีขนาดใหญ่ ส่วนดอกย่อยหรือดอกเดี่ยวมีก้านดอกทรงกลม ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนก้านใหญ่ ปลายก้านเรียวเล็กลง ถัดมาเป็นตัวดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอด ดอกบานแผ่กลีบดอกออก ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก 5 กลีบ หุ้มห่อฐานดอกไว้ กลีบดอก จำนวน 5 กลีบ โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะแหลมตรงกลางกลีบ แผ่นกลีบดอกไม่เรียบ มีสีขาว มีขนปกคลุม ถัดมาตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสีเหลือง จำนวน 5 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และตรงกลางของเกสรตัวผู้เป็นเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรสีเหลืองอมส้ม แทงยื่นยาวกว่าเกสรตัวผู้ จำนวน 1 อัน ด้านล่างสุดของฐานดอกเป็นรังไข่ ผลเดี่ยวหรือออกรวมกันเป็นช่อ แต่ละผลมีก้านผลที่พัฒนามาจากก้านดอก โคนก้านบริเวณขั้วผลใหญ่ โคนก้านติดกิ่งเล็ก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวผลที่ขั้วผลหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ สีเขียว จำนวน 5 กลีบ ซึ่งพัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก โคนกลีบใหญ่เชื่อมติดกัน ปลายกลีบเรียวแหลม และมีขนอ่อนปกคลุมทั่วกลีบเลี้ยง ทั้งนี้ มะเขือเปราะบริเวณก้านผล และกลีบเลี้ยงจะไม่มีหนาม แตกต่างจากมะเขือขื่น (อีสาน) จะพบหนามบริเวณดังกล่าว
ผล ผล แต่ละผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร เปลือกผลหนา เรียบ และเป็นมัน มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ สีขาว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และมีลายปะสีขาว เป็นต้น เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในทุกพันธุ์ ถัดมาด้านในเป็นเมล็ดที่แทรกตัวในเนื้อผล ทั้งนี้ เปลือกผล และเนื้อด้านในจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และแยกออกได้ง่ายเมื่อผลแก่หรือสุก เนื้อเปลือกผลมีลักษณะอ่อน และกรอบ เมื่อแก่จนเหลืองจะแข็งขึ้น มีรสเฝื่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อผลด้านในมีรสหวาน เฝื่อนน้อยกว่าเปลือก

ข้อมูลอื่นๆ

การกระจายพันธุ์ : เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดียโดยในอินเดียจะเรียกว่า Kantakari แล้วในระยะแรกมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ เนปาลและพม่า...



การเพาะปลูก :

วิธีเพาะกล้า : เมล็ดจากผลสุกในแปลง ให้แยกเมล็ดออก และเก็บรักษาในห่อผ้านาน 1-2 เดือน หากเป็นเมล็ดพันธุ์จากตลาดสามารถใช้เพาะได้ทันทีเตรียมแปลงเพาะขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ ให้พรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืชออกก่อน จากนั้น หว่านปุ๋ยคอกรองพื้น 1 ถัง/ตารางเมตร ก่อนคลุกพรวนด้วยจอบ ก่อนนำเมล็ดหว่านลงแปลง พยายามให้เมล็ดห่างกัน 2-4 เซนติเมตร หลังจากนั้น ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินตื้นให้กลบเมล็ด ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลให้น้ำต่อเนื่อง วันละ 1 ครั้ง ในช่วง 7 วันแรก จากนั้น ลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10-15 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงต่อ ทั้งนี้ อาจเพาะในกะบะเพาะก็ได้



การเตรียมแปลงปลูก : แปลงปลูกจะต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้ง จากนั้น หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนไถพรวนแปลงอีกรอบการปลูกเป็นแถว หากต้องการทำร่องปลูก ให้หว่านโรยปุ๋ยคอกตามร่องก่อน และไม่ต้องหว่านรองพื้นตอนไถกลบ



วิธีย้ายกล้า และการปลูก : การย้ายกล้าปลูก ควรดูแลกล้าจนมีอายุประมาณ 10-15 วัน หรือแตกใบจริงแล้ว 3-5 ใบ โดยรดน้ำให้ชุ่มก่อนถอนย้ายกล้า และต้องเตรียมแปลงให้เสร็จก่อนขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวๆ ระยะห่างระหว่างต้น และแถว ประมาณ 80-100 เซนติเมตร หลังจากปลูกรดน้ำให้ชุ่ม



การให้น้ำ : หลังการปลูก 7-14 วันแรก ควรให้น้ำทุกวัน จากนั้น ลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง แต่ต้องให้ชุ่มในทุกครั้ง จนอายุมะเขือได้ประมาณ 2 เดือน จึงลดเหลือประมาณ 3 ครั้ง/อาทิตย์



การใส่ปุ๋ย : หลังปลูกแล้ว 20-25 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รอบโคนต้น ประมาณต้นละ 1 หยิบมือ และให้อีกรอบเมื่อต้นอายุได้ 45-50 วัน ในสูตร 12-12-24 ในอัตราเท่าเดิม ทั้งนี้ ควรให้ปุ๋ยคอกร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ครั้ง



การกำจัดวัชพืช : หลังปลูกแล้ว 20-30 วัน ให้กำจัดวัชพืชด้วยจอบถากหรือใช้มือถอน และอีกครั้งเมื่ออายุครบ 2 เดือน หรือกำจัดเมื่อพบเห็นวัชพืช



การเก็บผลผลิต : หลังปลูกประมาณ 45-60 วัน มะเขือเปราะจะเริ่มติดผล และทยอยเก็บผลได้หลังจากปลูก 60-80 วัน และเก็บต่อเนื่องนานกว่า 4-5 เดือน ทั้งนี้ การเก็บผล ควรใช้กรรไกรตัดขั้วผล ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะอาจทำให้ยอดขาดหรือโคนต้นถอนได้ แต่หากใช้มือต้องมีความชำนาญ และระมัดระวังเป็นพิเศษ



การเจริญเติบโต : เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย เจริญได้ในดินแทบทุกชนิดและ ต้องระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ชอบแดด ต้องดูแลรดน้ำเสมอ และโดนแดดได้ตลอดวัน ต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่ม โดยรดน้ำเช้าเย็น



ประโยชน์ : มะเขือเปราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ

ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 39 กิโลแคลอรี, โปรตีน 1.6 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัมน้ำ 90.2 กรัม, วิตามินเอรวม 143 RE., วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม, วิตามินบี3

0.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 24 มิลลิกรัม, แคลเซียม 7 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม การรับประทานมะเขือเปราะเป็นประจำจะช่วยต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ และมีประโยชน์ต่อตับอ่อน เพราะทำให้ตับแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ