พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก ภาคเหนือ

ไพล (Phlai) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb.

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ไพล (Phlai)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb. จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae     

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี
ต้น มีลำต้นที่แท้จริงอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” (Rhizome) เหง้ามีขนาดใหญ่ เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลำต้นเทียมซึ่งเป็นส่วนของกาบใบอัดตัวกันแน่นเจริญขึ้นเหนือพื้นดินลักษณะเป็นกอ มีความสูงประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ใบรูปหอกแกมขอบขนาน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน แผ่นใบลักษณะบางมีสีเขียว โคนก้านใบแผ่ออกมีหูใบ ใบเกิดแบบเรียงสลับระนาบเดียวกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3.0 ถึง 5.0 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20 ถึง 35 เซนติเมตร
ดอก ดอกเกิดเป็นช่อแบบช่อเชิงลด พัฒนาจากเหง้าใต้ดิน รูปทรงกระบอง มีใบประดับสีม่วงซ้อนกันแน่น รูปโค้งห่อรองรับเป็นกาบอัดปิดกันแน่น และขยายเปิดอ้าออกให้เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกมีสีขาวนวล ดอกย่อยเกิดระหว่างใบประดับ
ผล ผลแบบแห้งแตก รูปทรงกลม มีเมล็ดกลมแข็งขนาดเล็กอยู่ภายใน เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีน้ำตาลแกมเหลือง

ข้อมูลอื่นๆ

สรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้าไพลช่วยลดอาการอักเสบ รักษาอาการเคล็ด ขัด ยอก และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากเหง้าไพลมีฤทธิ์ทำให้ปลายประสานชา ส่งผลให้สามารถลดอาการอักเสบ ลดอาการปวดบวมของกล้ามเนื้อและส่วนข้อได้



วิธีการใช้ประโยชน์ นำเหง้าไพลสดมาตำให้ละเอียด จากนั้นคั้นเอาเฉพาะน้ำ ทานวดบริเวณที่มีอาการเคล็ด ขัด ยอก และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือนำเหง้ามาตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อย คลุกให้เข้ากัน นำมาห่อเป็นลูกประคบ อังด้วยไอน้ำร้อนเพื่อให้ปลดปล่อยน้ำมันหอมระเหยออกมา ใช้ประคบบริเวณที่มีอาการ



การปลูกและดูแลรักษา การเตรีมพื้นที่ปลูก ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกไพลเป็นดินร่วนร่วนปนทราย โดยปลูกในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากการเตรียมดินปลูกโดยไถพรวนดิน 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย ตากแดดทิ้งไว้ 1 ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชและโรคพืชที่สะสมอยู่ในดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินที่ใช้ปลูก อาจใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ให้มีค่าประมาณ 5.5 ถึง 6.5 การเตรียมหัวพันธุ์ แบ่งเหง้าไพลให้มีน้ำหนัก 100 กรัมต่อหัว หรือให้มีตา 3 ถึง 5 ตา นำไปฝังในทรายเพื่อรอให้ตาเกิดการงอก การปลูก ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดลึกประมาณ 15 เซนติเมตร รองหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถึง 2 กำมือ นำเหง้าพันธุ์ไพลที่เตรียมไว้วางลงในหลุมปลูกแล้วกลบด้วยดินให้มิด และคลุมด้วยฟางหรือวัสดุคลุมดินอื่นๆ หนาประมาณ 2 นิ้ว โดยมีระยะห่างการปลูกระหว่างต้น 25 ถึง 30 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 30 เซนติเมตร และรดน้ำในทันทีหลังปลูก กรณีดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมในปีแรก หากปลูกไพลปีที่สอง ใส่ปุ๋ยคอก 50 ถึง 100 กรัมต่อต้น โดยกำจัดวัชพืชแล้วใส่ปุ๋ยคอกรอบโคนต้น กรณีที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โรยเป็นแถวข้างต้นห่างจากโคนต้น 10 เซนติเมตร โดยใส่สองครั้ง ครั้งแรกหลังปลูก 1 เดือน และครั้งที่สองหลังปลูก 3 ถึง 4 เดือน หากเก็บเกี่ยวในปีที่ 2 ครั้งแรกหลังต้นอ่อนงอก 1 เดือน และครั้งที่สองหลังจากครั้งแรกอีก 3 เดือน ในการปลูกระยะแรกต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าไพลจะตั้งตัวได้ จากนั้นควรให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง การเก็บเกี่ยว สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการทำลูกประคบ เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม เมื่อไพลมีอายุปลูก 9 เดือนขึ้นไป โดยสังเกตเห็นลำต้นเหนือดินแสดงอาการเหี่ยวแห้ง สำหรับเหง้าไพลที่ใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำมันหอมระเหย เก็บเกี่ยวไพลในช่วงฤดูแล้งของปีถัดไป ซึ่งเหง้าไพลนั้นมีอายุ 2 ปี