ชื่อ : พริกยอดสนเขียว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum annuum L.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae
ชื่อสามัญ : Chili
ชนิด/ประเภท | เป็นพืชผักสมุนไพร เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก |
ราก | ราก ประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอยจำนวนมาก มีลักษณะการแผ่ออกด้านข้างเป็นรัศมีได้มากกว่า 1 เมตร และหยั่งลึกได้มากกว่า 1.20 เมตร บริเวณรอบๆโคนต้นจะมีรากฝอยสานกันหนาแน่น |
ต้น | ลำต้น มีการเติบโตของกิ่งแบบ Dichotomous คือ กิ่งแตกออกจากลำต้นเพียงกิ่งเดียวและจะแตกเพิ่มเป็น 2 เท่า เรื่อยๆ เป็น 2 กิ่ง เป็น 4 กิ่ง และ 8 กิ่ง จนมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม |
ใบ | ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว มีลักษณะแบนเรียบ สีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบเป็นมัน มีขนปกคลุมเล็กน้อย รูปร่างของใบมีลักษณะรูปไข่จนถึงเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบออกบริเวณกิ่งแบบตรงข้ามกัน และมีขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่ทั่วไปใบพริกขี้หนูจะมีขนาดเล็กในระยะต้นกล้า และมีขนาดใหญ่ เมื่อต้นโตเต็มที่ |
ดอก | ดอก ชนิดเดี่ยว ขนาดเล็ก แตกออกบริเวณข้อตรงที่มุมด้านบนของก้านใบหรือกิ่ง อาจมีดอกเดียวหรือหลายดอกในจุดเดียวกัน ก้านดอกตรงหรือโค้ง ดอกมีกลีบรอง มีลักษณะเป็นพู สีขาวหรือสีม่วงประมาณ 5 กลีบ เกสรตัวผู้มีประมาณ 1-10 อัน แตกออกจากโคนที่กลีบดอก อับเกสรตัวผู้มักมีสีน้ำเงิน เป็นกระเปราะขนาดเล็ก และยาว ส่วนเกสรตัวเมียมี 1- 2 รังไข่ มีลักษณะชูขึ้นเหนือเกสรตัวผู้ รูปร่างเหมือนกระบองหัวมน รังไข่มี 3 – 4 พู มักจะออกดอก และติดผลในช่วงวันสั้น |
ผล | ผล เป็นผลประเภท Berry มีลักษณะเป็นกระเปาะ มีฐานที่ชั้นผลสั้น และหนา ผลอ่อนมักชี้ขึ้น แต่เมื่อแก่ผลจะห้อยลง ผลมีลักษณะแบน กลมยาว จนถึงพองอ้วนสั้น ผลมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ผนังผล ( Pericarp ) อาจบางหรือหนา มีความเผ็ดแตกต่างกันตามพันธุ์ ผลเมื่ออ่อนสีเขียวเข้ม บางพันธุ์อาจมีสีขาวออกเหลืองเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นแดงหรือเหลือง ขนาดผลทั่วไปประมาณ 1- 1.5 นิ้ว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/4 -2/3 นิ้ว เมล็ดด้านในจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดจากโคนจนถึงปลายผล ในช่วงที่ผลพัฒนา หากอุณหภูมิในช่วงกลางวันสูง ความชื้นต่ำ จะทำให้ผลมีรูปร่างบิดเบี้ยว ผลมีขนาดเล็ก การติดเมล็ดต่ำ เมล็ดจะเกิดรวมกันที่รก (Placenta) ตลอดแนวยาวจากโคนถึงปลายผล เมล็ดมีรูปร่างคล้ายเมล็ดมะเขือเทศ คือ มีรูปกลม แบน สีเหลืองจนถึงสีน้ำตาล ผิวเมล็ดไม่ค่อยมีขนเหมือนผลในมะเขือเทศ แต่มีขนาดใหญ่กว่า |
การกระจายพันธุ์ : สำหรับถิ่นกำเนิดของพริกนั้นอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก จังนับได้ว่าพริกเป็นเครื่องเทศที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ทั้งนี้เนื่องจากนักโบราณคดีได้ค้นพบพริกในหลุมศพยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ประเทศ เปรู ต่อมาเมื่อโคลัมบัสได้ค้นพบหมู่เกาะอินเดียตะวันตกแล้ว ในตอนเดินทางกลับ จึงได้นำพริกไปเผยแพร่ในยุโรปเมื่อค.ศ.๑๔๙๓ จนถึงปี ค.ศ. ๑๕๔๘ ได้มีรายงานว่า มีผู้นำพริกเหล่านี้ไปปลูกที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวโปรตุเกสได้นำไปปลูกในประเทศอินเดียราว ๆ ค.ศ. ๑๕๘๕ หลังจากนี้ก็ได้แพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ของยุโรป และเอเซีย และเมื่อราวปีค.ศ.๑๗๐๐ ได้มีรายงานถึงการปลูกและบริโภคพริกในประเทศจีน นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ พริกได้ปลูกกันทั่วไปในส่วนต่าง ๆ ของโลก แต่ใช้สายพันธุ์ปลูกที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความเหมาะสมหรือความนิยมของพริกสายพันธุ์นั้น ๆ เป็นประการสำคัญ สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการนำเข้ามาปลูกเมื่อใด (กรมส่งเสริมการเกษตร,2550) สำหรับพันธุ์พริกที่นิยมปลูกในปัจจุบันถูกนำมาจากตัวอย่างที่เก็บมาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเทียบกับการกระจายตัวของพันธุกรรมในธรรมชาติ พริกพันธุ์ปลูกแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ ได้แก่ Capsicum baccatum และ C. pubescens R. and P. ซึ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนโดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และอีกกลุ่มหนึ่งที่รวม ๆ กัน อยู่ปัจจุบันยอมรับให้แยกอีก 3 ชนิด(species) ด้วยกัน ได้แก่ C. annuum L., C. frutescens L. และ C. chinense Jacq.
การเพาะปลูก : การเตรียมดิน แปลงปลูกพริกควรเตรียมดินด้วยการไถพรวนด้วยผาน 7 ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 7-14 วัน หลังจากนั้น ไถด้วยผาน 3 เพื่อให้ดินแตกมีความร่วนซุย หากเป็นพื้นที่ที่เป็นกรดให้ว่านด้วยปูนขาวปรับสภาพดินก่อนไถทุกครั้ง หลังการไถให้ตากดินประมาณ 3-5 วัน ก่อนปลูก ทั้งนี้ ก่อนการไถด้วยผาน 3 อาจหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกก่อนหรือใช้ปุ๋ยเคมีรองพื้น อัตราปุ๋ยคอกที่ 50 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ 30 ตัน/ไร่ แต่วิธีนี้ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ย ซึ่งอาจใส่ปุ๋ยในขั้นตอนปลูกสำหรับรองก้นหลุมก่อนปลูกก็ได้
การเตรียมกล้า : การปลูกพริกจำเป็นต้องเตรียมกล้าพริกก่อนทุกครั้ง ด้วยการเพาะเมล็ดในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ที่ 1 ต้น/หลุมหรือถุง สำหรับวัสดุเพาะให้เตรียมด้วยการการผสมดินร่วนกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุหรือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนดินต่อวัสดุผสม 2:1 หรือ 1:1 ทำการรดน้ำให้ชุ่มหลังการหยอดเมล็ด และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือเย็น จนพริกแตกใบแท้ประมาณ 3-5 ใบ หรือต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร จึงนำมาปลูกในแปลง
วิธีการปลูก : การปลูกจะปลูกในระยะที่เหมาะสม ที่ระยะห่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุมปลูก และให้โรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ก่อนปลูก หากตอนเตรียมแปลงไม่ได้หว่านปุ๋ย
การให้น้ำ : พริกเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ จึงควรให้น้ำเพียงเพื่อให้ดินชุ่มประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน เท่านั้น ก็เพียงพอ แต่ควรเพิ่มปริมาณในช่วงที่พริกขี้หนูติดดอก และผล
การใส่ปุ๋ย : ครั้งแรกอาจเริ่มในระยะก่อนปลูกด้วยการรองก้นหลุม หรือ ใส่เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้หลังการปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 และให้อีกครั้งเมื่อถึงระยะก่อนออกดอกประมาณ 15-30 วัน หรือเมื่อต้นแตกกิ่ง และทรงพุ่มเต็มที่แล้ว ด้วยปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราของทั้งสองระยะที่ 30 กก./ไร่ ทั้งนี้ ควรให้ร่วมกับปุ๋ยคอกด้วย เพื่อป้องกันการเสื่อมของดิน
การเก็บผลผลิตพริก : จะมีอายุจากวันงอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลพริกสดครั้งแรก ประมาณ 65-90 วัน ผลผลิตในระยะแรกจะน้อย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และลดลงในระยะสุดท้าย การเก็บควรเก็บทุกๆ 7 วัน ด้วยการเด็ดทีละผลโดยใช้เล็บจิกตรงก้านผลที่ต่อกับกิ่ง ไม่ควรใช้มือดึงที่ผล เพราะจะทำให้กิ่งหักได้
การเจริญเติบโต : เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถบริโภคเป็นพริกสดได้แต่เหมาะกับการทำเป็นพริกแห้งมากที่สุด พริกยอดสนจะมีเนื้อผลบาง เมื่อสุกเป็นสีแดงส้ม ผิวเป็นคลื่นตากแดดแล้วแห้งเร็ว เมื่อตากแห้งสนิทก้านผลจะเป็นสีเหลืองทอง ต่างจากพริกแห้งพันธุ์อื่นๆ ที่ขั้วจะเป็นสีน้ำตาล พริกยอดสนแห้งจะมีกลิ่นหอม รสเผ็ดไม่มาก ผลมีขนาดยาวมากกว่าพริกห้วยสีทน หรือพริกหัวเรือ รูปร่างเรียวยาวอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตปานกลาง
ประโยชน์ : ยอดอ่อนของพริกใช้ทำเป็นผักลวกจิ้ม กินกับน้ำพริกหรือรับประทานเป็นผักลวก หรือนำไปประกอบอาหารประเภทแกงจืด แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น ซึ่งจะให้รสหวาน และเผ็ดเล็กน้อย กรอบ นุ่ม ผล มักใช้เป็นผัก หรือเครื่องเทศสำหรับปรุงรสในการประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด รวมทั้งใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงหรือพริกแกง อาหารที่ใช้พริกเป็นส่วนประกอบหรือปรุงรส ได้แก่ อาหารประเภทแกง อาหารประเภททอด อาหารประเภทต้ม อาหารประเภทยำ รวมถึงอาหารประเภทปิ้งย่างที่ต้องการรสเผ็ด ดังนั้น พริกจึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะสามารถให้พลังงาน และแร่ธาตุ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี โดยเฉพาะวิตามินซี ที่พบมากกว่าผักชนิดอื่นๆ