

อินจัน มีชื่อเรียกอื่นว่า จัน, อิน, จันอินจันโอ, จันอิน, จันลูกหอม, จันท์ลูกหอม, จันขาว, ลูกจัน, ลูกอิน, จันอิน, ลูกจันทน์, ลูกจันทร์ เป็นต้น
ต้นอินจัน หรือ ต้นจัน เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้า เป็นต้นไม้โบราณที่ในปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ สมัยนี้หาดูได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเมื่อก่อนจะนิยมปลูกไว้ตามวัด ต้นอินจันนับว่าเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างแปลก โดยต้นเดียวกันแต่ออกผลได้ 2 แบบ ซึ่งไม่เหมือนกัน ผลหนึ่งลูกกลมป้อม ๆ ขนาดใหญ่กว่ามาก เราเรียกว่า "ลูกอิน" แต่อีกผลลูกแบน ๆ แป้น ๆ มีขนาดเล็กกว่า เราจะเรียกว่า "ลูกจัน"
หมายเหตุ: ต้นจันอินยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี และยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร
ชนิด/ประเภท | อินจัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra Lour. จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE) |
ต้น | ต้นจันอิน เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมหรือทรงกระสวย หนาทึบ ลำต้นตรง เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้มอมเทาหรือดำแตกเป็นสะเก็ด เนื้อไม้สีขาว ส่วนกิ่งอ่อนยอดอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม และมีกิ่งก้านเหนียว |
ใบ | ใบอินจัน เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับกัน ใบคล้ายรูปรี โคนใบมน ปลายใบสอบหรือแหลม แผ่นใบเรียบบางเป็นมันลื่น ขอบใบเรียบ ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร |
ดอก | ดอกอินจัน ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ดอก ตามส่วนต่าง ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบเรียงเป็นรูปถ้วยแต่ไม่เชื่อมกัน ส่วนกลีบดอกมี 4-5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามกิ่งเล็ก ๆ กลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะเหมือนดอกเพศผู้แต่ใบใหญ่กว่า |
ผล | ผลไม้อินจัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลประมาณ 4-8 เซนติเมตร ที่ผลจะมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่จุก ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลือง เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน สามารถรับประทานได้ โดยผลอินจันจะมีอยู่สองแบบคือ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้น ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดลีบ ผลมีรอยบุ๋มตรงกลาง รสฝาดหวาน มีกลิ่นหอม จะเรียกว่า ลูกจัน ส่วนผลที่มีลักษณะของผลเป็นรูปกลมและมีเมล็ด 2-3 เมล็ด ไม่มีรอยบุ๋ม มีรสฝาดหวาน จะเรียกว่า ลูกอิน โดยผลอินจันจะมีรสฝาด ต้องคลึงให้ช้ำก่อนรสฝาดจึงจะหายไป |