พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก

กุยช่าย ชื่อสามัญ : Chinese chives, Garlic chives

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ชื่อ : กุยช่าย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium tuberosum Rottler ex Sperng.

ชื่อวงศ์ : Amaryllidaceae

ชื่อสามัญ : Chinese chives, Garlic chives

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ล้มลุก สูง 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กและแตกกอ
ใบ ใบ มีลักษณะแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน
ดอก ช่อดอก เป็นแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตัน ยาว 40-45 ซม. โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ยาวประมาณ 5 มม. โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย ดอกบานกว้างประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ผล ผล มีลักษณะกลม กว้างยาวประมาณ 4 มม. ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด
เมล็ด เมล็ด มีสีน้ำตาล แบน ขรุขระ

ข้อมูลอื่นๆ

การกระจายพันธุ์ : เอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในไต้หวันมีปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่วไป และพันธุ์ใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม



การเพาะปลูก :



          การเตรียมดิน ไถพลิกดิน ตากแดดประมาณ 15 วันใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2 กิโลกรัม

ต่อตารางเมตร โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะหญ้าแห้วหมูย่อยหรือพรวนดิน และเตรียมแปลง



          การเตรียมแปลง พื้นที่ที่มีระบบน้ำขังตลอดยกร่องสูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 3 ถึง 5 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร พรวนดินในแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน พื้นที่ดอนหรือไม่มีน้ำท่วมขัง ยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 50 ถึง 70 เซนติเมตร พรวนดินในแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน



          การปลูก กุยช่ายเขียวจากการเพาะเมล็ดเมื่อต้นกล้ามีอายุครบกำหนด ลำต้นแข็งแรง ให้รดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม นำกล้าลงปลูกใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หลุมละ 3 ถึง 4 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม กุยช่ายจะอยู่ได้ 3 ถึง 4 ปี แล้วแยกกอปลูกแปลงใหม่คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหรือแกลบดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7 ถึง 8 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ สำหรับกุยช่ายเขียวจากการแยกกอปลูกนำกอที่แยกจากต้นแม่พันธุ์ แล้วมีการตัดใบ ตัดราก และจุ่มยากันเชื้อราแล้วมาปลูกลงในแปลงตามระยะและวิธีการเดียวกันกับกุยช่ายเขียวแบบเพาะเมล็ดดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ประมาณ 4 เดือน หลังปลูกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้



การขยายพันธุ์ : มี 2 วิธี คือ



          วิธีการเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า โดยก่อนเพาะควรแช่เมล็ดในน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13 – 0 – 50) เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำออกมาใส่ในผ้าเปียกเก็บในตู้เย็นเป็นเวลา 3 ถึง 5 วัน รักษาความชื้นในวัสดุเพาะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการงอกของเมล็ด แล้วนำออกมาผึ่งให้ผิวแห้ง นำดินสำหรับเพาะกล้าในลงหลุมถาดเพาะ แล้วนำเมล็ดกุยช่ายหยอดลงในหลุม 3 ถึง 5 เมล็ด ต่อหลุม จากนั้นกลบด้วยดินที่ใช้เพาะกล้าบางๆ รดน้ำพอชุ่ม คลุมด้วยฟางข้าวแห้ง นำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทที่ดี รดน้ำทุกวันในตอนเช้า เมล็ดจะงอกภายใน 7 ถึง 14 วัน ในระยะนี้ควรรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ จนอายุกล้าประมาณ 50 ถึง 60 วัน จึงสามารถนำไปปลูกได้



          การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ เริ่มจากการเตรียมแปลงเพาะเหมือนกับการเตรียมแปลงเพาะพืชทั่วไป หว่านเมล็ดลงแปลงบางๆ โรยฟางข้าวทับรดน้ำให้ชุ่ม จนกล้าอายุได้ 50 ถึง 60 วัน จึงนำกล้าไปปลูกลงแปลงปลูกได้การแยกเหง้าหรือแยกกอปลูก ใช้ในการปลูกทั้งกุยช่ายเขียว และกุยช่ายขาว ด้วยการสลับผลิตกุยช่ายแต่ละชนิดในแปลงเดียวกัน วิธีนี้จำเป็นต่อการปลูกกุยช่ายขาว เพราะการปลูกจากเหง้าให้เป็นกอๆ จะสามารถใช้วัสดุทึบแสงคลุมกอได้



          วิธีการแยกกอ โดยใช้ต้นแม่พันธุ์อายุ 6 เดือนขึ้นไป ขุดแล้วแยกกอ ก่อนปลูกควรตัดใบออก เพื่อลดการคายน้ำ ตัดรากให้เหลือประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร จากนั้นนำกอที่แยกเพื่อปลูกจุ่มยากันเชื้อราเพื่อเป็นการป้องกันโรคก่อน จึงนำไปปลูก



การเจริญเติบโต : เจริญได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทรายจะเจริญได้ดี ชอบน้ำ ให้ระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ชอบแสงแดด ต้องดูแลรดน้ำเสมอ ต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่ม โดยรดน้ำเช้าเย็น ให้โดนแดดตลอดวัน จะทำให้กุยช่ายโตได้เร็ว ถ้าต้องการกุยช่ายขาว ให้นำภาชนะมาคลุม พลางแสงไว้ ไม่ให้โดนแสงแดด



การดูแลรักษา



การให้น้ำ รดน้ำกุยช่ายวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ในตอนเช้า กุยช่ายชอบน้ำชุ่มแต่ไม่แฉะ ไม่ขัง



การให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยครั้งแรก หลังย้ายปลูก 7 วัน ควรใส่ ปุ๋ย 21–0 – 0 (แอมโมเนีย ซัลเฟต ) ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 0 – 26 ( แคลเซียมไนเตรท ) ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยเจาะหลุมห่างจากต้น 10 เซนติเมตรด้านใดด้านหนึ่ง และใส่อีกด้านหนึ่งในครั้งต่อไปสลับด้านกัน หลังการให้ปุ๋ยครั้งแรก ให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 1 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 13 – 13 – 21 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ และ 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก หลังการเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรดอัตรา 15กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก



ทุกสัปดาห์ ควรฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำที่มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ในรูปสารละลายทางใบ



ประโยชน์ : มีฟอสฟอรัส มีเบตาแคโรทีน มีวิตามินเอ วิตามินซี มีคาร์โบไฮเดรต มีเส้นใย มีไขมัน มีเหล็ก และแคลเซียม ช่วยบำรุงน้ำนม ช่วยรักษาหนองใน ช่วยบำรุงเพศ ช่วยบำรุงไต ช่วยรักษาลมพิษ ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยรักษาโรควัณโรค แก้หวัด

ช่วยรักษาโรคหูน้ำหนวก ช่วยรักษาเลือดกำเดาไหล แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ ช่วยขับพยาธิ

ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร แก้นิ่ว ช่วยรักษาปัสสาวะขัด ช่วยฆ่าเชื้อ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยรักษาแผลหนอง ช่วยรักษาฟกช้ำดำเขียว แก้ปวด แก้แผลอักเสบ ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยลดอาการลำไส้อักเสบ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้