พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พืชพรรณ ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา

พันธุ์ไม้ และพันธุ์ผัก

ขมิ้นชัน (Turmeric) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Lin.

แหล่งที่มาและประวัติพันธุ์

ขมิ้นชัน (Turmeric)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Lin. จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae 

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี
ต้น ลำต้นที่แท้จริงอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” (Rhizome) ประกอบด้วย เหง้าหลักใต้ดินที่เราเรียกว่า “หัวแม่” ซึ่งมีรูปไข่ และแตกแขนงทรงกระบอกออกด้านข้างทั้งสองด้านเรียกว่า “แง่ง” เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว เกิดลำต้นเทียมลักษณะเป็นหน่อขึ้นมาเหนือพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มซ้อนกันแน่น มีสีเขียว
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ ใบรูปหอกขนาดกว้างประมาณ 12 ถึง 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร
ดอก ดอกเกิดเป็นช่อเจริญออกจากเหง้าแทรกขึ้นระหว่างกาบใบ รูปทรงกระบอก ประกอบด้วยใบประดับจำนวนมาก มีสีเขียวอ่อน ใบประดับตรงปลายช่อจำนวน 6 ถึง 10 ใบ สีขาว สีขาวอมเขียว หรือขาวแกมชมพู ดอกย่อยสีเหลืองอ่อน เกิดในซอกใบประดับ เว้นแต่ในซอกใบส่วนปลายช่อ ผลทรงกลมมี 3 พู

ข้อมูลอื่นๆ

สรรพคุณทางยาสมุนไพร ช่วยรักษาอาการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่น เนื่องจากอาหารไม่ย่อย ช่วยขับน้ำดี รักษาอาการท้องเสีย รักษาฝี แผลพุพอง ฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย และรักษาอาการอักเสบเนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อย



วิธีการใช้ประโยชน์ นำเหง้าขมิ้นชันที่เป็นส่วนของแง่งมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง จากนั้นบดบดเป็นผง นำมาบรรจุเป็นแคปซูลหรือปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานขนาด 2 ถึง 4 เม็ดต่อวัน โดยแบ่งรับประทานช่วงเวลาหลังมื้ออาหารและก่อนนอน หรือนำส่วนของเหง้ามาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ส่วนรักษาอาการอักเสบเนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อย นำส่วนแง่งสดของขมิ้นชันมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด จากนั้นคั้นเอาเฉพาะน้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ



การปลูกและดูแลรักษา การเตรีมพื้นที่ปลูก ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกขมิ้นชันเป็นดินร่วนร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำท่วมขัง โดยปลูกในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากการเตรียมดินปลูกโดยไถพรวนดิน 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย ตากแดดทิ้งไว้ 1 ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเมล็ดวัชพืชและโรคพืชที่สะสมอยู่ในดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินที่ใช้ปลูก อาจใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ให้มีค่าประมาณ 5.5 ถึง 6.5 เตรียมแปลงปลูกให้มีขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 15 ถึง 20 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ การเตรียมหัวพันธุ์ การปลูกโดยใช้หัวแม่ เลือกหัวแม่ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 ถึง 50 กรัม ใช้ 1 หัวต่อหลุมปลูก หากหัวพันธุ์มีขนาดใหญ่มาก ให้ตัดเป็นท่อน โดยให้แต่ละท่อนมีตาไม่น้อยกว่า 2 ตา ส่วนการปลูกโดยใช้แง่ง เลือกแง่งที่มีน้ำหนักประมาณ 15 ถึง 20 กรัม ให้มีตา 3 ถึง 4 ตาต่อแง่ง หรือแง่งมีขนาดยาวประมาณ 5 ถึง 7 เซนติเมตร โดยใช้ 1 ถึง 2 แง่งต่อหลุมปลูก การปลูก ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก หลุมละ 100 ถึง 200 กรัม วางหัวพันธุ์ในหลุมปลูก กลบดินหนา 5 เซนติเมตร 10 เซนติเมตร ขมิ้นชันใช้เวลาในการงอกประมาณ 30 ถึง 60 วันหลังปลูก โดยให้มีระยะห่างการปลูกระหว่างต้น 25 ถึง 30 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 50 ถึง 70 เซนติเมตร และรดน้ำในทันทีหลังปลูก กรณีดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมในปีแรก หากปลูกขมิ้นชันปีที่สอง ใส่ปุ๋ยคอก 50 กรัมต่อต้น หลังจากกำจัดวัชพืช โดยใส่รอบโคนต้น กรณีที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โรยเป็นแถวข้างต้น ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร โดยใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังปลูกเป็นเวลา 1 เดือน และครั้งที่สองหลังปลูกเป็นเวลา 3 เดือน ปกติขมิ้นชันอาศัยน้ำฝนเป็นหลักเพื่อการเจริญเติบโต หากฝนทิ้งช่วงไปในขณะที่ขมิ้นชันมีขนาดเล็กอยู่ อาจเกิดอาการเหี่ยว จึงควรรดน้ำให้เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของขมิ้นชันในช่วงแรก การเก็บเกี่ยว เก็บในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เมื่อขมิ้นชันมีอายุ 9-11 เดือนขึ้นไป โดยสังเกตเห็นลำต้นเหนือดินแสดงอาการเหี่ยวแห้งสนิท หากต้องการขมิ้นชันสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมัน จะเก็บเกี่ยวเมื่อขมิ้นชันเมื่ออายุ 2 ปี โดยเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งของปีถัดไป